Nostalgia ตัวช่วยสร้างแบรนด์ ให้เข้มแข็งได้อย่างไม่น่าเชื่อ

Nostalgia ช่วยสร้างแบรนด์

องค์กรธุรกิจในประเทศไทย เกิดขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่สมัย ร.5 ซึ่งก็เป็นสมัยที่บริษัทฝรั่งเข้ามาทำธุรกิจในสยาม ขณะที่สยามต้องการพัฒนาประเทศในหลายด้าน
Picture of ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​
ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​

เผยแพร่: 15 พ.ย. 2560

แชร์บทความนี้
Picture of ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​
ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​

เผยแพร่: 15 พ.ย. 2560

แชร์บทความนี้

ธุรกิจจากตะวันตก ซึ่งเข้ามาทำมาหากินกับทรัพยากรในบ้านเรา เช่น ทำไม้สัก ขุดคลอง เปิดร้านขายยา ทำทางรถไฟ ทำโรงไฟฟ้า ทำโรงแรม ฯลฯ

บางบริษัทเหล่านั้นยังคงดำรงอยู่มาถึงปัจจุบัน โดยหลังจบธุรกิจเหล่านั้นไปแล้ว ก็กลายเป็นบริษัทนำเข้าและส่งออกสินค้าอีกทั้งเปลี่ยนไปทำโน่นทำนี่มากมาย ส่วนคนสยามเอง ต่อมาก็เริ่มเรียนรู้การทำงานของฝรั่งอย่างเป็นระบบ ก็เริ่มทำธุรกิจเอง เช่น ตั้งแบงก์ ร้านถ่ายรูป โรงเบียร์ ฯลฯ หลังจากเปลี่ยนจากยุคสยามมาเป็นไทย ก็มีองค์กรและบริษัทของคนไทยตั้งขึ้นเยอะแยะ มาถึงสมัยนี้ก็จดทะเบียนตั้งบริษัทกันมากมาย ที่ล้มก็ล้มไป ที่ฝีมือดีก็เจริญก้าวหน้า เผลอแผล็บเดียวก็ผ่านไปสู่วัย 10, 20, 30, … ปี เร็วเหมือนฝัน

องค์กรประกอบกิจการอยู่รอด เป็นการพิสูจน์ได้ถึงศักยภาพของการดำเนินการ ที่สามารถก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เวลาครบรอบวันเกิดองค์กร ก็จะมีธรรมเนียมที่เหล่ามิตรทางธุรกิจ ร่วมส่งคำขอแสดงความยินดีในวาระครบรอบวันเกิด เห็นแล้วก็อิ่มเอมในความสำเร็จ ตอนนี้ผู้เขียนจะขอ วกเข้าประเด็นว่า การที่องค์กรหรือบริษัทของเรา ดำเนินกิจการมาปีแล้วปีเล่า องค์กรของเราได้รับการบันทึกเรื่องราวขององค์กรที่ผ่านมาไว้บ้างหรือไม่ หรือบันทึกไว้ดีเพียงใด เช่น ปีใดที่เกิดวิกฤติการเงิน แล้วเราผ่านไปได้อย่างไร? ปีใดที่เราเปลี่ยนตราสินค้าใหม่ เพราะอะไร? ปีใดที่เราสร้างอาคารทำงานหลังใหม่? ปีที่เราเปิดสาขาแห่งใหม่? มีคนเข้ามาขอชมงานปีละกี่คน? ฯลฯ
การบันทึกเรื่องราวความก้าวหน้าขององค์กรที่ผ่านมานั้น มีความหมายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเป็นเนื้อหาสำคัญที่ต้องมีอยู่ใน Website หรือ Homepage ซึ่งมักเรียกกันในหัวข้อประวัติ หรือที่มาองค์กร การบันทึกนอกจากจะไว้เล่าขานถึงที่มาที่ไปขององค์กร ยังจะเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องคุณค่าของแบรนด์โดยตรง เรื่องอดีตขององค์กรนั้น ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ให้คุณค่าอย่างมาก และถือว่าเป็นส่วนที่ช่วยสร้างศรัทธา ความเชื่อมั่น ต่อองค์กรและตราสินค้า
องค์กรปัจจุบัน จะวางข้อมูลส่วนนี้ไว้ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ เพราะสามารถกระจายข้อมูลไปให้ใคร ๆ ทราบได้สะดวกและง่ายที่สุด บรรดาสื่อและบล็อกเกอร์ต่าง ๆ เมื่อคิดจะหาข้อมูลองค์กร ก็มักจะใช้ข้อมูลจากแหล่งนี้ ไปประกอบกับหัวข้ออื่น ที่จะนำไปเสนอต่อไปได้อย่างรวดเร็ว และง่ายดาย องค์กรทั่วไปจะมีหน่วยงานดูแลเรื่องนี้ใกล้ชิดอยู่แล้ว และบางองค์กรทำงานได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว เพราะเราจะเห็นได้ชัดเจนในหนังสือรายงานประจำปีของแต่ละองค์กร ซึ่งนำเสนอเรื่องราวในอดีต ให้ผู้ถือหุ้นได้เห็นบางภาพบางมุมที่แปลกต่างออกไปจากปีก่อน ๆ เสมอ ถ้าเรามีข้อมูลเหล่านี้มาก พวกเขาจะทำงานได้อย่างมีสีสันมาก
คุณค่าของอดีตองค์กรอีกส่วนหนึ่ง ที่นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว คือ การเก็บรักษาหลักฐานและชิ้นงานที่เป็นจริง ซึ่งหมายรวมไปตั้งแต่การรักษาอาคารเก่า การเลือกนำอุปกรณ์เครื่องมือดั้งเดิมชิ้นสำคัญ ที่เคยใช้ผลิตมารักษาและแสดงไว้ให้ใคร ๆ เห็น ตัวอย่างองค์กรที่ทำเรื่องนี้ให้เราเห็นชัดเจนก็คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทไปรษณีย์ไทย และคิดว่าคงมีองค์กรอีกหลายแห่งที่มีหลักฐานในการประกอบการทำนองนี้
ท่านผู้อ่านคะ ฝรั่งมีคำอยู่คำหนึ่งคือ Nostalgia น่าจะแปลว่า “การรำลึกถึงความหลังหรืออดีต” หรืออะไรประมาณนั้น ร.ศ. ด.ร. ศิริชัย ศิริกายะ ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้อธิบายคำนี้ไปถึงอารมณ์ของบุคคลในเวลาต่อมาที่เกิดขึ้นในลักษณะ “โหยหาสวรรค์หาย…” ต่อมาเรื่องนี้ได้กลายเป็นบทแทรกในทฤษฎีสื่อสารมวลชนใหม่ ที่มีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ ที่เขาหยิบมาทำกิจกรรมทางธุรกิจกัน จากจุดนี้เองที่ทำให้หลายองค์กร ได้พยายามเก็บรวบรวมอดีตของตนเข้ามาอย่างเป็นระบบ โดยใช้เรื่อง Timelines เข้ามาควบคุม
เรื่องที่อาจารย์สอนนี้ก็ยังคาใจ และคาความคิดผู้เขียนอยู่นานพอสมควร ต่อมาได้เดินทางไปเที่ยวที่เมืองอาบน้ำแร่ Bad Zurzach ในสวิสเซอแลนด์ เย็นวันหนึ่งได้เดินผ่านพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ ในหมู่บ้าน ที่บอกไว้ในแผนที่ว่า พิพิธภัณฑ์นี้คือ บ้าน ซึ่งเคยเป็นต้นกำเนิดการผลิตเสื้อชั้นในสตรีดังยี่ห้อหนึ่ง ต่อมาก็ได้ขายกิจการไป และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายกันทั่วโลก ก็สนใจและตื่นเต้นค่ะ เพราะเป็นยี่ห้อที่รู้จักและคุ้นเคย เมื่อเข้าไปเดินในพิพิธภัณฑ์ทั่วแล้วก็รู้สึกว่า ผลิตภัณฑ์ที่เราคุ้นเคยได้เพิ่มคุณค่าขึ้นมาหลายเท่าอย่างอัศจรรย์ จึงไม่สงสัยว่าทำไม ในต่างประเทศมีบริษัทมากมายได้จัดงบประมาณเพื่อซื้อชิ้นงาน และหลักฐานในงานทางธุรกิจเดิม กลับสู่เหย้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งก็คือการนำเรื่อง Nostalgia มาคู่กับการสร้างแบรนด์นี่แหละ
พวกบริษัทที่ให้บริการประมูลสินค้าดัง ๆ ในโลกอย่าง Sotheby’s/Christie’s/Bonham’s จึงได้เงินมหาศาลจากการช่วยไล่ล่าของเก่ากลับคืนให้บริษัท ที่หาของกลับบ้านอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในเรื่องการเก็บรวบรวมชิ้นงานที่มีค่าในอดีต ผู้เขียนพบว่าองค์กรขนาดใหญ่บ้านเรา ซึ่งต้องเปลี่ยนผู้บริหารไปตามวาระให้ความสนใจในเรื่องนี้น้อยมาก หรือขาดความต่อเนื่อง คงเพราะต้องไปให้น้ำหนักกับเรื่องสำคัญใหญ่ ๆ ขององค์กรที่ต้องดูแล และทำให้ลืมเรื่องตัวช่วยสร้างแบรนด์ตัวนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
แต่พอถึงฤดูกาลที่ต้องเตรียมข้อมูลให้กับการทำงานประจำปี โดยเฉพาะการทำหนังสือรายงานประจำปี ก็ทำให้บรรดาลูกน้องหลายคนพากันเครียด เพื่อจะหาเรื่องเก่า ๆ มาเขียนใหม่ โดยไม่ให้ทั้งเรื่อง และภาพซ้ำกับปีก่อน เพราะจะเรียกศรัทธาจากผู้ถือหุ้น ซึ่งบริษัทก็ มีงานอยู่จำกัดหรือน้อยชิ้นมาก พวกพนักงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็ไปสืบค้นชิ้นงานที่ตกอยู่กับแหล่งต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอกองค์กร เช่นไปตามเอาจากเว็บไซต์ดัง ๆ ที่คนเขาโพสท์ในกระทู้คุยกันบ้าง หรือจากการสืบค้นจากที่โน่นที่นี่โดยความสามารถเฉพาะตัวบ้าง องค์กรที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องราว และหลักฐานในอดีตไว้เลยขอให้รู้ว่า อดีตที่ทรงคุณค่านี่แหละเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างแบรนด์ของท่านให้เข้มแข็งได้อย่างไม่น่าเชื่อ ต้องเก็บรักษากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้วล่ะค่ะ