การสื่อสาร ความเสี่ยงที่องค์กรมองข้าม ทำให้องค์กรขาดเกราะป้องกันที่ดี

บทความพิเศษ

การสื่อสาร… ความเสี่ยงที่องค์กรมองข้าม

การสื่อสาร… ความเสี่ยงที่องค์กรมองข้าม

” จากการเขียนถึง “พี่ช่าง” บุคลากรที่องค์กรส่งให้ออกไปพบและบริการลูกค้า โดยมองข้ามความสำคัญในเรื่องของการฝึกอบรมให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้เรื่อง “การสื่อสาร” ซึ่งเปรียบเสมือนองค์กรไม่เคยสร้างเกราะที่จะป้องกันทั้งตนเองและองค์กร “
Picture of ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​
ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​

เผยแพร่: 28 ต.ค. 2558

แชร์บทความนี้
Picture of ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​
ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​

เผยแพร่: 28 ต.ค. 2558

แชร์บทความนี้
ตอนที่ 1

มีหลายองค์กรในประเทศไทย ที่เห็นความสำคัญในจุดนี้ ได้ให้ผู้เขียนทดลองสอนวิชา บุคลิกภาพ การสื่อสาร และการบริการ ให้กับเหล่า “พี่ช่าง” “น้องช่าง”

และในที่สุดก็ตัดสินใจให้เรียนทั้ง 100% เพราะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าซึ่งเห็นความเปลี่ยนแปลง ที่จับต้องได้จริง ๆ ท่านอาจจะงงว่า…“ช่าง” เนี่ยนะ จะให้มาเรียนเรื่องบุคลิกภาพ ถูกต้องแล้วค่ะ หากอธิบายก็คงใช้เวลานาน เอาเป็นว่าผู้เขียนขอถามกลับไปสั้น ๆ นิดหนึ่งก็แล้วกันว่า “องค์กรอยากขายของแพงไหมคะ?” “องค์กรอยากให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มที่จ่ายเงินแพงกว่าที่อื่นไหมคะ?” “อยากให้ทีมงานดูแพงไหมคะ?”
ลูกค้าคิดว่า “เราขายของแพง แต่พนักงานดู ราคาไม่แพงเหมือนของที่ตั้งราคาขายเลย” ถ้าไม่อยากให้พนักงานดูแพงเหมือนราคาของที่ขายแพง ท่านคิดจะทำอย่างไรก็ทำไปเถิดค่ะ แต่ถ้าอยากขายของแพงให้ลูกค้ารู้สึกว่าดูคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายก็มาอ่านกันต่อ
หากเราจะขายของให้ได้ราคา เราก็ควรทำให้ผลิตภัณฑ์เราดูดี และเราต้องทำให้คนของเรามีบุคลิกภาพที่สมราคาที่ขายแพง …ไม่เว่อค่ะ แต่พอดี ๆ ดูดี พูดรู้เรื่อง บริการแมน ๆ อ่านใจลูกค้าออก เท่านี้ก็สุดยอด… ลูกค้าหลงรักกันหมดค่ะ “พี่ช่าง” ที่ผู้เขียนได้พูดถึงเมื่อผ่านการอบรมเรื่องบุคลิกภาพ สิ่งมหัศจรรย์ที่ได้เกิดขึ้นก็คือ “พี่ช่าง”ขององค์กรนี้ แปรสภาพจากช่างธรรมดา ๆ กลายเป็น… “พี่ช่างมืออาชีพ” ที่ดูน่าเชื่อถือ
“พี่ช่าง” แต่ละสาขาต่างเตือนกันเอง ให้ระมัดระวังในความดูดี ความสะอาดของรองเท้า การดูแลตัวเองตัดผมและหนวดเคราที่เคยรุงรังให้เข้าที่ ยิ้มมากขึ้น พูดเป็นภาษาคนมากขึ้น แม้แต่อุปกรณ์ที่นำไปบริการลูกค้า การดูแลอุปกรณ์ของลูกค้าหน้างาน และที่สำคัญรู้จักสังเกตสภาพแวดล้อมในพี้นที่ที่ไปให้บริการมากขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ใส่ใจทั้งสิ้น ไม่น่าเชื่อใช่ไหมคะ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว และผู้เขียนก็ยังคงเขาไปอบรม “น้องช่าง”ที่เข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่อง
บอกได้เลยค่ะว่า ปัจจุบันองค์กรนี้ได้แซงคู่แข่งไปอย่างเงียบ ๆ เรียบร้อยแล้ว และเหตุผลที่ลูกค้าปัจจุบันตัดสินใจเลือกคือคำพูดที่ว่า “ช่างของคุณดูดี ไม่เหมือนช่างบริษัทอื่น ที่สำคัญคือพูดรู้เรื่องดี” จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องง่าย ๆ แต่บางองค์กรมองข้ามไป ไม่กล้าลงทุนเพราะคิดว่าไม่สำคัญ แต่ CEO รุ่นใหม่ที่มองการณ์ไกล และมีความคิดในเรื่องการขายภาพลักษณ์ ได้หันมาปรับปรุงองค์กร ขอให้เปิดอบรมให้กับผู้บริหารก่อนใคร CEO ยังลงมาเข้าเรียนร่วมกับพนักงานด้วยค่ะ น่ารักสุด ๆ
เชื่อหรือไม่คะ ถ้า CEO รู้ซึ้งเรื่องการบริการ ไม่ว่าลูกค้าหรือพนักงานจะเกิดปัญหาอะไร CEO จะอ่านเกมส์ปัญหาของการบริการได้ทะลุทั้งสิ้น จากนั้นให้ลงมาที่ Frontline และพนักงานทั้ง 100% ควบคู่ไปกับการปรับโฉมการบริการใหม่หมด และในระยาวก็จัดให้ “พี่ช่าง” “น้องช่าง” ทั้งเก่าและที่รับเข้ามาใหม่จากทุกสาขาทั่วประเทศ ได้รับการอบรมเหมือนกันทุกคน เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการลงมือปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นพนักงานเก่าหรือใหม่ และไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งไหน ตามที่ได้เสนอแนะไปในตอนที่ผ่านมา
สำหรับภาวะปกติการปฏิบัติตามที่เสนอแนะนี้เป็น “การลดความเสี่ยงขององค์กร” โดยให้ความรู้เรื่องการสื่อสารที่ชัดเจน ถูกต้อง และเข้าอกเข้าใจกันทุกฝ่าย เรียกว่าตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม ผู้บริหารที่ชาญฉลาดจะเข้าใจได้ว่าสิ่งนี้เป็นการลงทุนไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่าย เพราะถ้าพนักงานด่านหน้าและพี่ช่าง รวมทั้งลูกค้าสามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ องค์กรก็จะใช้เวลากับการทำงานเทคนิคอื่น ๆ ได้มากขึ้น ไม่ต้องคอยวิ่งตามขอโทษลูกค้าที่เสียความรู้สึกอยู่ร่ำไป
บางองค์กรทำงานแบบวัวหายล้อมคอก แก้ไขเมื่อเกิดปัญหา คือรอให้มีเรื่องก่อนแล้วค่อยมาหาทางแก้ไข ผู้บริหารกลุ่มนี้มักจะพูดว่า “อยู่กันมาก็ไม่เห็นจะมีปัญหา แล้วทำไมต้องไปแก้ไข” ไม่มีปัญหา หรือไม่ทราบปัญหา หรือไม่อยากจะรู้ปัญหา ถ้าปล่อยให้องค์กรเป็นไปตามยถากรรม ต้องมีลุ้นทุกวัน แบบนี้เหนื่อยค่ะ เพราะต้องทุกคนทำงาน 2 เด้ง คือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ต้องคอยพยายามลบภาพลักษณ์ที่ไม่ดี และต้องลงทุนสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่ดูดี… แพงค่ะแพงทีเดียว…
ตอนที่ 2

เมื่อตอนที่แล้วได้คุยกันเรื่อง “การลดความเสี่ยง” ในภาวะปกติ โดยให้ความรู้เรื่องการสื่อสารเพื่อให้ทุกฝ่าย ทุกระดับได้เกิดความเข้าใจตรงกันแล้วนะคะ

นอกเหนือจากการเข้าใจเรื่อง ”การตีความ” ซึ่งกันและกันแล้ว ในระดับองค์กร ต้องปลูกฝังให้บุคลากรทุกคนได้แยกแยะเรื่อง ระดับความลับของข้อมูลที่ตนเองทำงานอยู่ ว่ามีอะไรที่ต้องชี้แจงอย่างเปิดเผยให้ทุกคนได้ทราบ ไปจนถึงพิจารณาว่าบางอย่าง คือ ความลับขององค์กร ไม่ควรจะสื่อสารออกไป บางคนซื่อมาก อธิบายตรงไปตรงมาว่า “ความลับค่ะ นายบอกว่าพูดไม่ได้” พังค่ะพัง พังสถานเดียว เนื้อหาถูกต้อง..แต่ไม่ต้องพูด.. แค่นี้ก็คิดไม่เป็นหรือ? ก็คิดไม่เป็นนี่แหละค่ะ ที่ทำให้องค์กรเข้าตาจนมานักต่อนักแล้ว..เฮ้อ..กลุ้มใช่ไหมคะ
ปัจจุบันมีเด็กคิดไม่เป็น คิดไม่รอบคอบเยอะมาก เป็นความผิดของใคร? อาจจะเป็นเพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เด็ก ๆ เรียนลัดได้เร็ว จึงอาจจะเกิดการลัดวงจรในการคิดก็ได้ ป่วยการที่จะหาว่าเป็นความผิดของใคร เพราะเรื่องราวมันล่วงเลยมาแล้ว ถามว่าเด็กพวกนี้เก่งหรือไม่ เก่งค่ะ และเก่งมากด้วย แต่ความเก่งกับความคิดมันเป็นคนละเรื่องกันค่ะ ดังนั้นหน้าที่ขององค์กรเมื่อรับพวกเขามาทำงานแล้ว ก็ต้องเติมสิ่งที่ขาดหายไปให้เต็ม เพื่อไม่ให้เกิดเป็นความเสี่ยงขององค์กรขึ้นมาได้ค่ะ
ถามว่าถ้าปล่อยให้เขาเป็นไปตามธรรมชาติจะเกิดอะไรขึ้น ถ้า “น้องน้อย”เหล่านี้พูดในเรื่องที่เป็นความอ่อนไหว(Sensitive) อาจจะทำให้องค์กรที่อยู่อย่างปกติสุข กลายเป็นองค์กรที่เกิดภาวะวิกฤติขึ้นมาได้ค่ะ ต่อมาถ้าองค์กรเกิดภาวะวิกฤติขึ้นมาจริง ๆ ท่านเชื่อหรือไม่ การสื่อสารจะเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรมองข้าม กว่าจะรู้สึกตัวอีกครั้ง บางองค์กรถึงกับย่อยยับไปเลยก็มี เพราะถ้าไม่มีการสื่อสารจากองค์กร ผู้ที่ประสงค์ร้ายก็จะยัดเยียดการสื่อสารที่เป็นข้อมูลทางลบมาให้โดยง่ายดาย
ทุกองค์กรจะให้ความสำคัญกับการจัดการในภาวะวิกฤติ(Crisis Management ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง การวางแผนให้เกิดความต่อเนื่องของธุรกิจ(Business Continuity Plan: BCP) เพราะเป็นความอยู่รอดขององค์กร แต่มีอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือเรื่อง การวางแผนการสื่อสารในภาวะวิกฤติ (Crisis Communication Plan) องค์กรส่วนใหญ่มักจะมีแผนการสื่อสารฯ นี้เป็นส่วนเล็ก ๆ แอบอยู่เท่านั้น และมักจะมองข้ามสาระสำคัญที่เป็นองค์รวม ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหากับองค์กรอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว
เมื่อถึงขั้นตอนการซ้อมตามแผนการจัดการในภาวะวิกฤติ ก็ซ้อมการสื่อสารกันพอเป็นพิธี เช่น สมมติให้มีนักข่าวมาและมีการแถลงข่าวเท่านั้น แต่ในโลกความเป็นจริง โดยเฉพาะโลกปัจจุบันที่การสื่อสารมีความซับซ้อน และรวดเร็วมาก เพราะโลกทั้งโลกสมัยนี้ติดต่อกันได้ในชั่วกระพริบตา คือกด sent เท่านั้นข้อมูลก็ไปได้หมดทุกมุมโลกแล้ว ผู้ที่เร็วกว่าจะเป็นผู้ชนะเสมอ องค์กรที่คิดว่าเตรียมแผนที่ดีที่สุดไว้แล้ว แต่ไม่ได้เตรียมแผนเชิงรุกในการสื่อสาร เมื่อเกิดภาวะวิกฤติก็จะตายน้ำตื้นอย่างไม่น่าเชื่อ
ถ้าองค์กรมองการณ์ไกลและรอบคอบ ก็จะมีแผนการสื่อสารในภาวะวิกฤติไว้อย่างละเอียดครอบคลุมทุก Stake Holder และมี Scenario ครอบคลุมหลายเหตุการณ์ บอกถึงโครงสร้างการสื่อสาร และสร้างโครงร่างของ Key Message ขึ้นมา เพื่อใช้ในแต่ละเหตุการณ์ รวมทั้งระบุหน้าที่ของการสื่อสารในแต่ละช่วงไว้อย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ใช้แผนการสื่อสารฯได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และลงมือปฏิบัติได้ทันท่วงที ไม่เป็นรองตั้งแต่เริ่มต้น
นอกจากนี้ ผู้ที่สื่อสารต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการที่จะส่งข้อมูลออกไปอย่างรอบด้านทั้ง 360 องศา พนักงานบางคนแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้เก่งมาก คือ การแก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหาใหม่ค่ะ พนักงานเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ทำให้ปัญหาที่เป็นอยู่ กลายเป็นก้อนใหญ่ขึ้น เป็นปัญหาซ้ำซ้อน ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง พนักงานแบบนี้ถ้าให้อยู่เฉย ๆ ท่าทางจะยุ่งน้อยกว่า ที่ผ่านมาในระดับประเทศก็มีตัวอย่างมาให้เห็นอยู่เนือง ๆ ท่านผู้อ่านคงจะจินตนาการเรื่องจริงได้หลายเรื่อง
พวกนี้ทำให้องค์กรต้องอยู่ในสภาพที่เป็นลิงแก้แหประเภท Multiply ค่ะ ท่านผู้อ่านขา ส่วนในเรื่องการพิจารณาตัวคนที่ต้องออกไปสื่อสารกับกลุ่มต่าง ๆ เมื่อยังอยู่ในยามปกติ ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่าบุคคลใดเหมาะสำหรับการได้รับมอบหมายให้ไปสื่อสารกับคนภายนอก เพราะจำเป็นต้องเลือกคนพูดแล้วทำให้องค์กรเกิดภาพลักษณ์ในทางบวก พนักงานแบบนี้ต้องคว้าตัวเอาไว้เป็นพนักงานต้นแบบเลยค่ะ
ตอนที่ 3

พนักงานคนบางคนในยามปกติก็ดูดี แต่พอถึงยามหน้าสิ่วหน้าขวาน...พูดทีไรองค์กรแย่ทุกที

อย่างนี้คงต้องให้ไปอยู่ข้างหลัง หรือควรให้พักร้อนไปชั่วขณะ เพื่อไม่ต้องก่อปัญหาให้แก้กันไม่เว้นแต่ละวัน และเพื่อเป็นการป้องกันสภาวะที่.. ศึกนอกยังรบไม่เสร็จ เดี๋ยวคนในก็เผาบ้านตัวเองด้วยลมปากเสียอีกแล้ว เราต้องพยายามหาบุคคลากรต้นแบบ หรือเพชรในองค์กรให้เจอในยามปกติให้ได้ อย่าไปรอให้เกิดเหตุแล้วมาดูว่าใครเป็นพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาแก้ปัญหา เพราะวิธีนี้เป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไป วิธีการที่จะเฟ้นหาผู้บริหารที่มีแวว และมีความสามารถจะสื่อสารได้ บางองค์กรดูจากคนที่พูดเก่ง นำเสนอดี มาดดี วิธีนี้บอกได้เลยว่าตกม้าตาย เพราะบางท่านไม่ได้ทำได้ดีเหมือนท่าทางที่แสดงออกมาก็เยอะ
วิธีที่ผู้เขียนพิสูจน์ให้หลายองค์กรประจักษ์กันมาแล้ว และได้ผลจริง ๆ คือต้องมีการทดสอบแบบเนียน ๆ โดยทดสอบกันไม่ให้ผู้ถูกทดสอบได้รู้ตัว แน่นอนว่าต้องทำกันในยามปกติ ที่องค์กรยังไม่ได้เกิดปัญหาใด ๆ ขึ้นมา โดยทั่วไปแล้วมีการคัดเลือกโดยการนำการฝึกอบรม 2 เรื่องที่สามารถจะค้นหาเพชรเม็ดนั้นให้เจอได้ไม่ยากนัก การฝึกอบรมนี้จะแบ่งได้เลยว่า ท่านผู้บริหารท่านใดควรอยู่ในกลุ่มใดเช่น บางท่านควรมอบหมายไปพักร้อนช่วงที่เขาเกิด Crisis เพราะอยู่แล้วยุ่งแน่ ๆ รอให้เรื่องสงบค่อยกลับมา จะประเสริฐสุด บางท่านควรให้เป็นผู้หาข้อมูลสนับสนุน เพราะให้แง่มุมดีเฉพาะต้องให้เป็นเอกสาร หรือต้องอธิบายตัวต่อตัว แล้วให้คนอื่นไปถ่ายทอดต่อจะดีมาก
บางท่านควรให้เป็นผู้สื่อสารกับสาธารณชน เพราะจับประเด็นดี พูดเป็นบวก และมีสติดี บางท่านพูดดี แต่ไร้สติ ถ้าโดนไล่ต้อนมาก ๆ จะหลุด กลายเป็นวิวาทะแทนการให้สัมภาษณ์หรือแถลงข่าว ควรให้ขี้แจงแถลงเท่านั้น แต่ห้ามตอบคำถาม บางท่านมีแววที่จะสื่อสารได้ดี ถ้าเพิ่มชั่วโมงบินให้ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง บางท่านพูดมีแต่น้ำ เริ่มพูดทีไรหาทางลงไม่เจอ วกไปวนมา คนฟังก็เหนื่อยลุ้นให้จบลงให้ได้
หลักสูตรที่ทำแล้วได้ผล เพราะจะเห็นแววความสามารถได้เลยก็คือ “การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน (MEDIA RESPONSE)” เพราะจะทำให้ผู้บริหารได้มีโอกาสทดลองให้สัมภาษณ์สื่อได้ทุกประเภท จะเห็นว่าแต่ละท่านเหมาะกับสื่อมวลชนประเภทใด และมีผู้บริหารจำนวนน้อยมาก ที่เหมาะกับการให้สัมภาษณ์สื่อทุกประเภท นอกจากนี้ยังเห็นจุดอ่อนเพื่อนำไปอุดรูรั่วและเห็นจุดแข็งที่จะนำไปพัฒนาต่อ ของท่านผู้บริหารแต่ละท่านอีกด้วย การฝึกเรื่องนี้นอกจากส่งผลดีต่อผู้ให้สัมภาษณ์แล้ว ยังส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ดีกับสื่อมวลชนด้วย ในมุมผู้บริหารก็เพิ่มความมั่นใจเมื่อถูกตั้งคำถามที่ไม่คาดคิด ส่วนสื่อก็จะสบายใจ ที่ไม่ต้องเสียเวลาเปล่าเมื่อไปสัมภาษณ์
ไม่น่าเชื่อว่า ในการฝึกอบรมแต่ละครั้ง องค์กรได้ค้นพบช้างเผือกเชือกใหม่ทุกครั้ง และบางครั้งก็ค้นพบว่าผู้บริหารบางท่าน เมื่อถึงภาวะวิกฤติอาจจะเป็น RIGHT MAN ไม่ใช่ RIGHT JOB ก็ได้ อีกหลักสูตรที่จะทำให้เห็นศักยภาพให้การสื่อสารของเจ้าหน้าที่และผู้บริหารก็คือเรื่อง “สื่อสารอย่างไรในภาวะอ่อนไหว ไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อองค์กร (RISK COMMUNICATIONS)” เพราะเป็นหลักสูตรที่ทำให้บุคลากรสามารถ ตั้ง Key Message เวลาสื่อสาร ได้ชัดเจน และสามารถสื่อสารในทุกสภาวะที่จัดเตรียมไว้ จะรู้ได้ว่าบุคลากร สามารถใช้เชาว์ไวไหวพริบเพื่อสะกัดกั้นปัญหา และเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสได้หรือไม่
สำหรับการสื่อสารไม่ว่าจะพูดในภาวะไหน Key Message ก็ยังเป็นพระเอกอยู่ดี เชื่อหรือไม่การให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารบางท่าน ให้สัมภาษณ์เสร็จ หุ้นดิ่งลงเหวทันที หรือสัมภาษณ์เสร็จ เกิดปรากฎการณ์องค์กรต่าง ๆ ต่างรุมเข้ามาขอตรวจสอบ หรือขณะสัมภาษณ์ผู้บริหารคนอื่น ๆ ต่างมองตากันว่าทำไมข้อมูลที่กำลังให้สัมภาษณ์นั้นผิดหมด หรือถูกส่วนเดียว หวาดเสียวไหมคะท่านผู้อ่านขา…
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ นอกจากผู้บริหารที่ไม่มีชั่วโมงบินมากเพียงพอในเรื่องนั้น ๆ พูดไม่เคยมี Key Message แถมเป็นพวกที่หลบไมโครโฟนมาตลอด พอมาเจอเหตุการณ์ที่บังคับให้ต้องเดี่ยวไมโครโฟน สติสตังค์กระเจิดกระเจิงหมด เกิดอาการหน้ามืดขึ้นมาทันที รับรองว่าตายลูกเดียวค่ะ ไม่เป็นไรค่ะ…ใจเย็น ๆ ค่ะ… หายใจลึก ๆ
คิดถึง Key Message ให้มั่นไว้ก่อนค่ะ Key Message นี่แหละค่ะนี่คือยาลมที่จะมาช่วยต่อสติให้กับท่านได้ฟื้นขึ้นมาพูดได้ตลอดรอดฝั่ง ผู้ที่สื่อสารแม้จะไม่ใช่คนพูดเก่ง แต่ต้องสื่อสารให้ผู้ฟังเข้าใจตรงกับเรา อ๊ะ…..ก็ต้องฝึกกันอีกแหละค่ะ ฝึกเพื่อพูดแล้วต้องไม่ให้ตัวเอง ผู้อื่น และองค์กรเสียหาย หรือท่านอยากเป็นคนที่พูดให้ตนเองรอด แต่องค์กรแย่…. ก็เฉยไว้ รวมไปถึงเราต้องเริ่มสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้บุคลากรทุกระดับมีจิตสำนึกที่จะสื่อสารเป็นบวกด้วย เพื่อให้เราทุกคนและองค์กรอยู่รอดด้วยกันค่ะ