เส้นทางสายไหมใหม่ เส้นทางสำหรับขนสินค้า ในโครงการ One belt, One Road

เส้นทางสายไหมใหม่

โครงการ One belt, One Road (OBOR) เป็นการทำงานใหญ่ของจีนอย่างมีจินตนาการ และเป็นระบบอย่างยิ่ง
Picture of ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​
ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​

เผยแพร่: 31 พ.ค. 2560

แชร์บทความนี้
Picture of ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​
ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​

เผยแพร่: 31 พ.ค. 2560

แชร์บทความนี้

ที่จีนจัดการประชุม OBOR ในปักกิ่ง เมื่อวันที่ 14-15 ที่ผ่านมานี้ ความจริงนั้นจีนได้วางแผนทำเรื่องนี้ ที่มีขั้นตอนและได้ลงมือทำหลายอย่างไปล่วงหน้าตั้งนานแล้ว

จีนเอาจริงเอาจังกับงานนี้มาก จีนโน้มน้าวให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือกัน ในภาคี OBOR และแสดงให้เห็นภาพชัดเจนว่า ใครเข้ามาร่วมในโครงการนี้ ต่างก็ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน (แต่ประเทศที่ได้มากที่สุดนั้นแน่นอนว่าเป็นจีน) ใครเพิ่งจะมาคิดทำโครงการทำนองนี้ก็ตามจีนไม่ทัน และไม่มีศักยภาพเท่าจีนหรอก

เมื่อพูดถึงเส้นทางสายไหม ขอเท้าความกลับไปถึงเส้นทางสายไหมในอดีตสักหน่อย เพราะคนมักจะนึกถึงเส้นทางสายนี้แบบกึ่งจริงกึ่งฝัน ความจริงแล้ว ในอดีตไม่ได้มีคำเรียกเส้นทางเส้นนี้ว่า Silk Road ค่ะ แต่เรียกเป็นชื่อโน่นนี่ตามภาษาท้องถิ่นต่อกันไปเป็นช่วง ๆ แต่เมื่อร้อยกว่าปีมานี้ นักเดินทางเยอรมันคนหนึ่งเริ่มเรียกถนนสายนี้ว่า “Seidenstraßen” ซึ่งแปลว่า Silk Road หรือ Silk Route หรือ “ถนนสายไหม” อันเนื่องมาจาก เป็นถนนที่คนยุโรปและเอเชียใช้ค้าขายระหว่างกันมานานกว่า 600 ปีก่อน ค.ศ. และพบหลักฐานซากคนยุโรป 2 คนในเส้นทางสายนี้ ซึ่งอาจมาค้าขาย หรือถูกจับมาเป็นทาสหรือเชลยแล้วมาเสียชีวิตกลายเป็นมัมมี่อยู่ในเส้นทางนี้ในจีน

จีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น ราว 200 ปีก่อน ค.ศ. ได้ขยายพื้นที่จีนไปทางตะวันตก และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ Rome ขยายพื้นที่เข้ามาในเอเชีย พวก Roman จึงได้รู้จักและชื่นชอบผ้าไหมจากเอเชีย ส่งคนมาในเส้นทางนี้เพื่อค้นหา “คนทำไหม” แต่ก็ล้มเหลว เพราะพ่อค้ารับผ้าไหมมาหลายทอด ทำให้ไม่อาจรู้ที่ผลิตที่แน่นอนได้ และ Silk Road ไม่ได้เป็นเส้นทางเพียงสายเดียว แต่กลับเป็นเส้นทางแยกย่อยไปมากมาย Silk Road ที่เชื่อมระหว่างจีนกับยุโรป ต้องผ่านเทือกเขาสูง ช่องเขาที่หิมะปิดเส้นทางตอนหน้าหนาว เมื่อผ่านออกไปก็มีทั้งทะเลทราย ความกันดาร แต่หลายพื้นที่ ก็มีธรรมชาติงามประทับใจ
เส้นทางสายไหมทางบก ลดบทบาทลงไปเมื่อโปรตุเกสพบเส้นทางเดินเรือจากยุโรปมาเอเชียราว 500 กว่าปีมานี้ ทำให้เส้นทางการค้า ยุโรป-เอเชีย ย้ายลงไปในทะเลแทน กลายเป็น …เส้นทางสายไหมทางทะเล มันทำให้เมืองคอนสแตนติโนเปิล และเวนิส จบความยิ่งใหญ่ทางการค้าลงทันที และเส้นทางสายไหมบนบก ก็กลายเป็นตำนาน ที่เหมือนกับเป็นเรื่องกึ่งจริงกึ่งฝัน แต่ในความเป็นจริงนั้น คนท้องถิ่นยังใช้เส้นทางเหล่านั้นอยู่
ในวันนี้ …หลังจากที่เส้นทางสายไหมซบเซาไปราว 500 ปี จีนได้ชุบชีวิตเส้นทางสายไหม เพื่อเป็นเส้นทางสำหรับขนสินค้าอีกครั้ง และได้ขยายมิติของเส้นทาง ให้กว้างออกไปเป็นแถบคาดกลางทวีปเอเชีย เพื่อให้ตอบสนองการขนส่งสินค้าเพื่อให้มีผลไปทั่วโลก โดยเรียกโครงการนี้ว่า One Belt, One Road จีนเชิญหลายประเทศให้เข้ามาร่วมโครงการ แต่ประเทศในกลุ่มประเทศในยุโรปส่วนหนึ่ง ดูเหมือนว่ายังไม่ศรัทธาต่อโครงการนี้
เส้นทางสายไหมในโครงการ One Belt, One Road เป็นแถบเส้นทางเพื่อจัดระบบ Logistics ใหม่ทั้งทาง บก ทะเล และอากาศ ในแถบเส้นทางบนบกนั้น จีนทำระบบราง และปรับปรุงถนนที่รองรับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้ ขณะที่จีนจัดพิธีเชิญชาติต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมโครงการ One Belt, One Road ที่ปักกิ่งนั้น จีนประสบความสำเร็จ จากการขนส่งด้วยระบบรางจากจีนไปยุโรป โดยรถไฟจีนได้ขนสินค้าจากจีนเข้าไปยังยุโรปอย่างเป็นล่ำเป็นสันหลายปีแล้ว
ซึ่งตามที่เรียนไว้ว่า จีนไม่ได้เพิ่งเริ่มทำงานนี้ และความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งที่จีนนำมาโหมโรงเมื่อต้นปีนี้คือ จีนใช้หัวรถจักรลากตู้สินค้า 44 ตู้ วิ่งจากฝั่งตะวันออกของจีนผ่านประเทศตัวเองออกไปผ่านประเทศ คาซักสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ เยอรมันนี เบลเบี่ยม ฝรั่งเศส และตู้สินค้าส่วนหนึ่งไปไกลถึงเกาะอังกฤษเป็นครั้งแรก
ที่เราสงสัยว่า สินค้าจีน เข้าไปวางขายเต็มตลาดในยุโรปได้อย่างไร ก็ต้องตอบว่า ส่วนใหญ่มาจากการจัดส่งด้วยระบบราง ที่ทรงอานุภาพของเส้นทางสายไหมนี่แหละค่ะ ระบบรางในเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนสามารถขนส่งสินค้าระยะทางไกล 12,000 กม.ใช้เวลาเพียง 2 อาทิตย์ สั้นกว่าการขนส่งทางเรือถึง 2 สัปดาห์ และราคาถูกหายห่วง ต่อไปนี้อังกฤษจะเป็นตลาดปล่อยสินค้าของจีน ที่เติบโตเพิ่มขึ้นอีกมาก จีนนั้นดีใจมาตั้งแต่อังกฤษผ่านกระบวนการ Brexit เพราะจะตกลงทางการค้ากับอังกฤษง่ายขึ้นมาก
รถไฟสินค้าจีนยังวิ่งลงไปถึงอิตาลีและสเปนด้วย จีนยังเดินหน้าจะเปิดจุดหมาย เพื่อการขนส่งขนตู้สินค้าทางรางเข้าประเทศในยุโรปเพิ่มอีกราว 20 ประเทศเร็ว ๆ นี้ จีนเรียกการขนส่งสินค้าระบบรางไปยุโรปของตนว่า New Silk Route….นั่นคือมิติการขนส่งทางราง ในการพลิกฟื้นเส้นทางสายไหม เพื่อการค้าในระบบรางที่เป็นอยู่ ณ วันนี้ นี่เป็นตัวอย่างการขยายตัวของการขนส่ง ของแถบเส้นทางสายไหมส่วนหนึ่งที่นำร่องของจีนด้วยระบบราง และเราจะไปรู้จักกับการขนส่งสินค้าของแถบเส้นทางสายไหมด้วยทางรถยนตร์กันต่อ