Inka Cola ที่แอนดีส เขาตั้งชื่อที่บอกถึงภูมิศาสตร์ของเครื่องดื่มชัดเจน

บทความพิเศษ

Inca Kola… ที่แอนดีส

Inca Kola... ที่แอนดีส

ปลายยุค ‘80  FBI ประเมินว่า Pablo Escobar มีรายได้วันละ 500,000 เหรียญสหรัฐ และ 80% ของโคเคนนำเข้าในสหรัฐเป็นฝีมือของเขา นี่คือเจ้าพ่อยาเสพติดตัวจริง

Picture of ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​
ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​

เผยแพร่: 17 มี.ค. 2560

แชร์บทความนี้
Picture of ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​
ม.ล.อัจฉราพร สุขสวัสดิ์​

เผยแพร่: 17 มี.ค. 2560

แชร์บทความนี้

เรื่องยิ่งดังกระหึ่มโลกเมื่อช่วง ค.ศ. 1987 นิตยสาร Forbs จัดให้ Pablo Escobar เป็น 1 ใน 10 ของคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

เขาเป็นพ่อพระที่โอบอ้อมอารี บางคนเรียกเขาว่าเป็นโรบินฮูด จากการใช้เงินค้าโคเคนไปทำการกุศล มีคนรักมากมาย การหว่านเงินได้ซื้อใจทั้งคนจนและเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ Pablo Escobar มีเกราะกำบังหนาแน่น แต่เบื้องหลังการเป็นพ่อพระนั้น เขาสังหารคนที่เป็นเสี้ยนหนามอย่างอำมหิตไปนับพันคน ในที่สุด Pablo Escobar ก็วกมาเข้าในเส้นทางการเมือง แต่ธุรกิจโคเคนก็สกปรกเกินไป ที่จะให้คนเรียกเขาว่าเป็นคนดีได้ ทางการโคลอมเบียก็จัดการเขาได้ใน ค.ศ. 1993
เรื่อง Pablo Escobar จบไปนานแล้วค่ะ แต่วันนี้หากใครไปอเมริกาใต้ก็อาจมีคนเล่าเรื่องเขาให้ฟังได้ละเอียดกว่านี้ สำหรับผู้เขียนแล้ว เห็นว่าการที่คนเทิดทูน Pablo Escobar คือคนที่แยกเรื่องความถูกใจกับความถูกต้อง และการเคารพกฎหมายไม่ค่อยออก หากนำ Pablo Escobar ไปเปรียบเทียบกับงานการตลาด เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า สินค้าที่สามารถสร้างให้ตลาดเกิดอารมณ์ (Emotional) ทางบวกขึ้นมาได้ จะทำให้คนซื้อเกิดความรัก ชอบ ถูกใจที่เหนือเหตุผล สินค้าตัวนั้นจะขายให้แพงยังไงก็มีคนซื้อ
คนโศกเศร้ากับการตายของ Pablo Escobar เข้ามาร่วมอาลัย และสดุดีศพแน่นป่าช้า มากกว่านั้น คนกลุ่มหนึ่งยกย่องให้ Pablo Escobar เป็นนักบุญ ความถูกใจมักเป็นพลังขับเคลื่อนที่รุนแรงกว่าความถูกต้องเสมอ ตรงกันข้าม… ลูกชายของ Pablo Escobar ซึ่งมีอาชีพสถาปนิกกลับสัมภาษณ์ว่า “พ่อของผมเป็นบุคคลที่ใคร ๆ ไม่ควรนำมาเป็นต้นแบบของชีวิต” ถือเป็นคำพูดที่หล่อมากค่ะ

เรื่องขบวนการยาเสพติดในอเมริกาใต้นั้นโหดร้ายกว่าที่เราคิด ตอนที่นั่งเครื่องบินจาก Newark ไป Lima ยังตกใจอยู่เล็กน้อยว่า เอ… ทำไมจำนวนผู้โดยสารไปอเมริกาใต้จึงมากมายเต็มลำแน่นยัดทะนานขนาดนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็เห็นว่าคนส่วนใหญ่เป็นคนละตินอเมริกา ที่มาทำงานหรือเป็นผู้อพยพอยู่อเมริกา เดินทางกลับไปเยี่ยมภูมิลำเนาเดิม แทบทุกคนหอบของจากอเมริกากลับไปบ้านกันพะรุงพะรัง มีทั้งเด็ก ๆ และคนสูงวัยมากมาย ที่สนามบินก็มีญาติพี่น้องมารับกันเต็มไปหมด

แต่พอขากลับมาที่ Newark นั้นกลับเป็นคนละอารมณ์ เพราะมีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของอเมริกาไปรับผู้โดยสารบางคนถึงประตูเครื่องบิน และบริเวณที่รับกระเป๋าก็จูงหมามาไล่ดมกระเป๋าชนิดที่ดมแล้วดมอีก ศุลการักษ์ก็เปิดค้นประเป๋าบางใบอย่างละเอียด เขาค้นหายาเสพติดที่มาจากอเมริกาใต้ค่ะ ซึ่งขนาดว่า Pablo Escobar ตายไปตั้งนานแล้วนะคะ
ก็ต้องนึกถึงที่ประธานาธิบดีทรัมป์หันมาเพ่งเล็งคนที่มาทำมาหากิน และคนอพยพในอเมริกา เพราะคนละตินอเมริกาส่วนหนึ่งนี่แหละ ที่นำสิ่งที่สหรัฐไม่ปรารถนาเข้ามาในประเทศ ยังนึกถึงที่ตัวเองที่นั่งอมท้อฟฟี่ใบโคคาที่โรงแรมแจกเมื่อวาน ถ้าติดกระเป๋ามาสักเม็ดจะโดนรวบไหมเนี่ย

อเมริกามองใบโคคาที่นำมาสกัดเอาสาร Alkaloid เป็นผู้ร้ายตัวจริงอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อช่วงปี ‘80 โคเคนทะลักเข้าอเมริกามากอย่างน่าเห็นใจ อเมริกาจึงพยายามหาทางแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ ไปร่วมมือกับรัฐบาลต่าง ๆ ในอเมริกาใต้ เพื่อหาทางกำจัดเจ้าพ่อยาเสพติดอย่าง Pablo Escobar และอีกทางหนึ่งคือ พยายามทำให้มีการควบคุมการปลูกต้นโคคาในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะใน โคลอมเบีย เปรู และโบลิเวีย แต่โคคานั้น เป็นพืชที่อยู่ในวัฒนธรรมแอนดีสมาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว คนอเมริกาใต้เขาก็เห็นว่าไม่ยุติธรรมกับเขา

Evo Morales ประธานาธิบดีโบลิเวีย คนที่เคยปลูกต้นโคคามาก่อนกลายเป็นคนแรกที่กล้าลุกขึ้นมาปกป้องต้นโคคาในระบบนิเวศน์ของตนเอง แทนที่จะเออออตามอเมริกา ตรงกันข้าม Evo Morales กลับไปทำการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 2009 ของโบลิเวีย ให้ต้นโคคาในโบลิเวียเป็นพืชที่ได้รับการปกป้องและคุ้มครองตามกฎหมายในเขตชีวมณฑลของตน แล้วยังบอกด้วยซ้ำว่า โคคานั้นเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ บริษัทที่ผลิตสินค้าไม่ควรนำไปตั้งเป็นชื่อสินค้าใด ๆ ต่อมาก็ลามมาเป็นสงครามเครื่องดื่ม Cola ในแอนดีส ต้นโคคาและเครื่องดื่ม Cola ได้กลายมาเป็นประเด็นของการสร้างความรักชาติ และชาตินิยมในอเมริกาใต้ขึ้นมาทันที
บนรถไฟ Vistadome และบนสายการบินในประเทศที่บินเชื่อมพื้นที่ต่าง ๆ ในอเมริกาใต้ เราอยากกินเครื่องดื่ม Cola น้ำดำเหมือนกับที่กินตามที่ต่าง ๆ ในโลก แต่ไม่มีบริการ …กลับมี Cola อีกชนิดหนึ่งบริการ แต่เป็น Cola น้ำสีเหลือง ซึ่งมีรสชาติเหมือนกับเครื่องดื่มน้ำดำเหมือนที่เรากินที่อื่น ๆ ในโลก และเครืองดื่ม Cola ที่แอนดีสเขาตั้งชื่อที่บอกถึงตัวตน และภูมิศาสตร์ผลิตภัณฑ์ได้ชัดเจนมาก คือได้นำชื่อบรรพชนของพวกตนมาตั้งเป็นชื่อ โดยมีชื่อว่า… Inca Kola และดูเหมือนว่า Inca Kola จะเป็นสินค้าที่เรียกความเป็นท้องถิ่นนิยมที่ประสบความสำเร็จมาก เพราะไปตามที่ไหน ๆ แถวแอนดีสจะเห็นตู้แช่เครื่องดื่มมี Inca Kola น้ำสีเหลืองรอเราอยู่
เล่าต่อไปอีกหน่อยนะคะว่า เรื่องชื่อของเครื่องดื่มน้ำดำนี้ที่ยังจำได้อีกแห่งคือที่อินเดียราว 30 ปีที่แล้ว จากการที่บริษัท Cola รายใหญ่ไม่ยอมขายหุ้นตามจำนวนที่ทางบริษัทในอินเดียต้องการ ทางอินเดียได้ทำเครื่องดื่ม Cola ออกขายเอง มีอยู่ 2 ชื่อ ชื่อหนึ่งคือ Thumb Up แต่ชื่อหนึ่งที่เห็นแล้วประทับใจมาก นึกว่าน่ามาจากตอนไหนของคัมภีร์หรือเทพปกรณัม อินเดียตั้งชื่อว่า Maha Cola อ่านว่า… มหา โคล่า แปลตรงตัวว่า… โคล่าที่ยิ่งใหญ่ ก็เป็น Cola ที่ยิ่งใหญ่พอ ๆ กับ Inca Kola ที่เทือกเขาแอนดีส แต่ที่อินเดียไม่มีอะไรเกี่ยวกับต้น Coca นะคะ